นโยบายต่างประเทศ พม่า
ในสภาวะการณ์ของโลกปัจจุบันที่ไร้มิตรแท้แลศัตรูที่ถาวร มีแต่เพียงผลประโยชน์ของประเทศเท่านั้นที่ยั่งยืน ได้ผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลายมาเป็นเกมส์สำคัญ ที่ประเทศต่างๆ ต้องเดินหมากด้วยความระมัดระวัง โดยที่พม่านับเป็นประเทศที่มีมนต์เสน่ห์ในสายตานานาชาติ เนื่องจากมีความมั่งคั่งด้วยทรัพยากรและศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ขณะเดียวกันพม่าก็เป็นประเทศที่สร้างความตึงเครียดให้กับประชาคมโลก เนื่องจากปัญหาของพม่าส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในประชาคมโลก ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน มหาอำนาจ และองค์กรระหว่างประเทศ จนทำให้พม่าเปรียบเสมือนกระดานหมากรุกทางยุทธศาสตร์ ที่ประเทศต่างๆ พยายามที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทด้วย
นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและโลกทัศน์ของรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันนั้น ได้ดำเนินไปภายใต้ปัจจัยหลากหลายมิติที่มีความสลับซับซ้อนมากมาย ในประเด็นนี้ดุลยภาค ปรีชารัชช ได้อรรถาธิบายถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลักที่จะกล่าวถึงบทความนี้ ได้แก่
1. ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ โดยที่พม่ามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอันได้แก่ จีนและอินเดีย ส่งผลให้พม่าต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบกับดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ที่มีทั้งศักยภาพทางการทหารและเศรษฐกิจที่เหนือกว่า นอกจากนี้พรมแดนด้านตะวันออกที่ติดกับประเทศไทย ยังประกอบไปด้วยกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตั้งประจันหน้ากับกองกำลังของรัฐบาลพม่า อีกทั้งภูมิศาสตร์ของพม่าประกอบไปด้วยช่องเขาต่างๆ เช่น ช่องเขาแถบเทือกเขาอาระกันโยมา ช่องเขาแถบรัฐคะฉิ่นทั้งเมืองบอมอ และช่องเขาแถบเทือกเขาถนนธงชัยกับตะนาวศรี ประกอบกับทางตอนกลางมีที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี และเทือกเขาสลับกับป่าทึบบริเวณชายขอบส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ออกเป็นสองส่วน ทำให้รัฐพม่ามีลักษณะเป็นนครรัฐยากแก่การควบคุมความเป็นเอกภาพ ส่งผลให้กองทัพจำเป็นที่จะต้องคงกองกำลังไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อป้องกันอธิปไตยและความมั่นคงจากการรุกคืบของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และการแทรกแซงจากรัฐเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตามภายหลังยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน พม่าได้แปรสภาพเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่ง ที่เชื่อมโยงอินเดีย จีน และอุษาคเนย์ อีกทั้งในปัจจุบันความคืบหน้าการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West economic corridor) 1 ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภูมิศาสตร์ของพม่ามีความสำคัญต่อระบบการค้า จึงส่งผลให้พม่ากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศก็ล้วนตบเท้าเข้ามาลงทุนในพม่า ทำให้พม่าสามารถพัฒนากองทัพและความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประเทศต่างๆก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลทหารพม่าได้เท่าที่ควร
2. ปัจจัยทางการเมืองและการทหาร ในโลกทัศน์ของรัฐบาลทหารพม่านั้น มองว่าภัยคุกคามความมั่นคงและอำนาจที่สำคัญ 3 กลุ่มหลัก อันได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มประเทศตะวันตก เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องจับตา และทำการปราบปรามทั้งในด้านการเมืองและการทหารเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจ ดังนั้น นโยบายการต่างประเทศของพม่าจึงจำเป็นที่รัฐบาลทหารจะต้องผูกขาด ซึ่งรัฐบาลทหารพม่ามักมีความเชื่อว่าการดำเนินนโยบายสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยของกลุ่มเรียกร้อง กลุ่มชาติพันธุ์ และจากกลุ่มประเทศตะวันตก ถือเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนเสถียรภาพแห่งรัฐ และอำนาจของรัฐบาล ดังนั้นทิศทางของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพม่าจึงพยายามที่จะคัดค้าน และบางทีก็ดำเนินเกมส์การเมืองเพื่อลดแรงเสียดทานจากกลุ่มองค์กรโลกบาล ในขณะเดียวกันก็มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ กับกลุ่มประเทศต่อต้านความเป็นเจ้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางกองทัพและการสนับสนุนพม่า ตลอดจนคัดค้านการลงโทษพม่าจากกลุ่มประเทศตะวันตก
3. ปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากพม่านับเป็นประเทศที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสินแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อัญมณี ผลผลิตทางการเกษตร และพลังงานไฟฟ้าจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้พม่ามีความโดดเด่น และหลายประเทศต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่รัฐบาลพม่ากลับดำเนินนโยบายการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ที่มีท่าทีไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่า เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย รวมทั้งอาเซียน (ASEAN) ภายใต้นโยบายความพัวพันเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเพิกเฉยและระงับความร่วมมือ หากมีการประณามการกระทำของรัฐบาลพม่า นอกจากนี้การดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลพม่าสามารถหารายได้จัดสรรงบประมาณเข้าบำรุงกองทัพเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่า อันนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคง ผ่านการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า
จะเห็นได้ว่าการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่านั้นถูกกำหนดขึ้นด้วยแรงบีบคั้นและปัจจัยสำคัญนานาชนิด ที่เป็นตัวขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลทหารพม่า ในส่วนต่อไปผู้เขียนจะลงลึกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจของโลก อันเกี่ยวข้องกับการปะทะทางอำนาจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจที่น่าจับตาอย่าง เช่น การแย่งชิงความเป็นเจ้าของสหรัฐอเมริกาและจีนที่กำลังผงาดขึ้น
เศรษฐกิจ พม่า
โปรแกรมทัวร์พม่า ไปกับWonderfulPackage
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้