Q&A ถาม-ตอบ เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างชาติ (กรณีคนต่างชาติยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร) "บต.32"
สำหรับการขอใบอนุญาตทํางานแทนคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อประกอบธุรกิจ กิจการหรือลูกจ้าง ทุกอาชีพกรณีคนต่างด้าวยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องยื่นขออย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้วันนี้เรามี คำถาม-คำตอบ เพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะค่ะ
Q : ใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างชาติ บต.32 คืออะไร?
A : แบบคำขอ บต.32 คือ แบบฟอร์มคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวโดยนายจ้างเป็นผู้ยื่นคำขอ หลังจากที่ยื่นคำขอแล้วจะได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานภายใน 7 วัน เพื่อใช้ในการขอวีซ่าทำงานจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
Q : การขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างชาติ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างไรบ้าง?
A : 1. ลูกจ้างต่างชาติ ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในไทย
2. นายจ้างเป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างชาติ (บต.32) ที่สำนักงานจัดหางาน
3. เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานแล้ว ให้ถ่ายสำเนาหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานเก็บไว้
4. จากนั้นนายจ้างจะต้องส่งหนังสือให้กับลูกจ้างต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอวีซ่าทำงาน(Non-B Visa) ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
หมายเหตุ : ใบอนุญาตทำงานมาตรา 12 (BOI) *ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างชาติแบบ บต.32 ได้
Q : เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานของลูกจ้าง แบบคำขอ บต.32 มีเอกสารอะไรบ้าง?
A : 1. หนังสือรับรองการจ้างงาน
2. สำเนาหนังสือเดินทาง (เฉพาะหน้าที่มีรูปถ่ายและชื่อคนต่างด้าว)
3. สำเนาหลักฐานการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน หรือกรอกข้อมูลตามแบบที่กำหนด
4. สำเนาเอกสารแสดงการอนุญาตหรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพ ในกรณีเป็นงานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องได้รับการอนุญาตหรือการรับรอง
5. หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้างติดอากรแสตมป์ 10 บาท และกรณีนายจ้างเป็นคนไทย ให้แนบสำเนาบัตรประชาชนของนายจ้าง
Q : เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน แบบคำขอ บต.32 จากข้อข้างต้น ในกรณีนายจ้างเป็นคนต่างชาติ ต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมอะไรบ้าง?
A : กรณีนายจ้างเป็นคนต่างชาติ ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง หรือหากนายจ้างไม่ได้ทำงานในประเทศไทยและไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องให้ Notary Public และสถานทูตไทยรับรองการมอบอำนาจให้กรรมการหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งลงนามแทน (กรณีไม่ได้มายื่นด้วยตนเอง)
Q : เอกสารประกอบการพิจารณาของนายจ้าง สำหรับกรณีเป็นสถานประกอบการเอกชน มีเอกสารอะไรบ้าง?
A : - สำเนา หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลไทย และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (อายุไม่เกิน 6 เดือน) หรือ สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พร้อมสำเนาหลักฐานการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (สำหรับนิติบุคคลต่างด้าว)
- สำเนา ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ.01 ที่ระบุประเภทกิจการ และคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ.09 (ถ้ามี)
- สำเนา หลักฐานกรณีนายจ้างประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่น หรือหนังสืออนุญาตให้ดำเนินกิจการของหน่วยงานรัฐ เช่น หนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เป็นต้น
- แสดงหลักฐานการจ่ายเงินประกันสังคม(1 เดือน) สำเนางบการเงิน(ปีล่าสุด) และภพ.30(3 เดือน)
Q : เอกสารประกอบการพิจารณาของนายจ้าง สำหรับกรณีโรงเรียนเอกชน / มหาวิทยาลัยเอกชน มีเอกสารอะไรบ้าง?
A : - สำเนาหนังสือแต่งตั้งครู หรือผู้สอนปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสัญญาจ้าง / มหาวิทยาลัยเอกชน ให้แสดงหนังสือรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุชื่อคนต่างด้าว ตำแหน่ง และระยะเวลาจ้างงาน
- สำเนาใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน / สำเนาหนังสือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและคำสั่งแต่งตั้งผู้มีอำนาจลงนามของมหาวิทยาลัย
Q : หลังจากคนต่างชาติได้รับอนุญาตทำงานเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร?
A : นายจ้างจะต้องทำการแจ้งการจ้างงานคนต่างชาติและการเข้าทำงานของคนต่างชาติ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก
Q&A About work permit made on Behalf of a Foreigner (If the foreigner has not yet traveled in to the kingdom) W.P.32
关于代表尚未进入王国的外国人申请工作许可证 “BorTor.32”问答集Q&A
แชร์ บทความนี้
พูดคุย เกี่ยวกับบทความนี้